วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2560

8 อาการสังเกตลูกมีปัญหาสุขภาพจิต

8 อาการสังเกตลูกมีปัญหาสุขภาพจิต


  


เพราะผู้ใหญ่เรามักคิดว่าเด็กๆ ไม่มีทางเกิดเจ็บป่วยทางใจได้..ก็เป็นเด็กอยู่ จิตใจจะถูกกระทบจนไม่สบาย หรือเป็นปัญหาได้อย่างไร เห็นวันๆ เอาแต่เล่นน่ะไม่ว่า..ถ้าคุณยังคิดเช่นนี้อยู่ต้องพึงระวังเลยค่ะ เพราะอาการจิตป่วย หรือสุขภาพจิตมีปัญหานั้น ไม่ว่าวัยไหนๆ ก็เป็นได้หมด ไม่เว้นแม้เด็กเล็กๆ ค่ะ

Lloyd Sederer, MD, medical director of New York State’s Office of Mental Health บอกว่าเด็กๆ จนถึงวัยรุ่น มีอารมณ์ขึ้นลงได้กันทุกคนค่ะ อาจเพราะทำคะแนนสอบได้ไม่ดี เข้ากลุ่มกับเพื่อนไม่ได้ หรือไม่ได้ในสิ่งที่คาดหวัง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นลูกๆ มีพฤติกรรมต่างออกไปจากทุกครั้งที่เจอปัญหาดังกล่าว ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ แถมยังคงอาการหรือแสดงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้นานมากกว่า 2 สัปดาห์ล่ะก็ ให้คิดเลยค่ะว่าลูกของเราคงไม่ใช่มีอารมณ์ขึ้นลงตามปกติแล้ว จิตใจลูกกำลังมีปัญหาเข้าแล้วแน่ๆ Lloyd แนะนำให้พ่อแม่ต้องคอยสังเกตพฤติกรรม การแสดงออกของลูกดังต่อไปนี้ แล้วจดบันทึกอย่างละเอียด เพื่อว่าเมื่อพาลูกไปพบผู้เชี่ยวชาญ หรือจิตแพทย์โดยเฉพาะ จะมีข้อมูลสำหรับการรักษาดูแลได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมค่ะ

1.การกินเปลี่ยน กินมากไป น้อยไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด กินอาหารแปลกๆ ที่ปกติไม่เคยกิน แอบกินหรือไม่ยอมกินร่วมกับคนอื่น ส่วนน้ำหนักตัวนั้นอาจลดหรือเพิ่ม หรือไม่ผิดปกติก็ได้ แต่เห็นได้จากพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไปจากปกติที่เคยค่ะ

2.การนอนเปลี่ยน อาจนอนมากขึ้น หรือนอนน้อยลง ทั้งตอนกลางวันหรือยามกลางคืน รวมทั้งนอนยาก ไม่นอนเลย ซึ่งแตกต่างจากปกติที่เคยนอน

3.สุขอนามัยส่วนตัวเปลี่ยน อยู่ดีๆ ก็เลิกอาบน้ำ หรือทำความสะอาดร่างกายน้อยลง ไม่ใส่ใจดูแลความสะอาดร่างกาย ปล่อยให้ร่างกายสกปรก ใส่เสื้อผ้าซ้ำๆ ไม่ซักไม่ทำความสะอาดเสื้อผ้า ปล่อยผมเผ้าให้รกรุงรัง กระเซอะกระเซิง ไม่ดูแลห้องนอนตัวเอง เป็นต้น

4.กิจกรรมที่ทำเปลี่ยน ลุกขึ้นทำอะไรที่แปลกไปจากเดิม โหมทำ หรือไม่ทำอะไรเลย อยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหว ดูเหมือนไม่สนใจอะไร แม้แต่กิจกรรมที่เคยชอบก็ไม่สนใจ หรือไยดี ซึ่งพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเช่นนี้อาจทำให้ลูกมีน้ำหนักลดลง ผอมลงจนเห็นได้ชัดได้

5.พฤติกรรมเปลี่ยน ทุกพฤติกรรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมของลูก เช่น หมกตัวอยู่แต่ในห้องของตน  อยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปไหนเหมือนเคย แสดงออกหมือนมีอะไรครอบงำจิตใจอยู่ เหมือนอยู่ในภวังค์ พูดคุยกับตัวเอง แสดงพฤติกรรมแปลกๆ ผิดปกติจากคนทั่วไป เช่น ใส่เสื้อผ้าหลายชั้นทั้งที่อากาศร้อน หรือปิดประตูหน้าต่างทุกบานตอนกลางวัน แม้อากาศจะร้อนอบอ้าวก็ตาม

6.สัมพันธภาพทางสังคมเปลี่ยน ไม่มีเวลาให้กับครอบครัว ไม่ใส่ใจครอบครัว หรือเพื่อน ไม่สนใจเสียงโทรศัพท์ดัง หรือเลิกโทรศัพท์ติดต่อกับคนอื่น หรือเพื่อนสนิท เลิกเที่ยวกับเพื่อน เลิกออกนอกบ้าน หรือแม้แต่ไม่ยอมไปโรงเรียน เลิกติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นๆ แม้แต่คนในครอบครัว   

7.อารมณ์เปลี่ยน มักแสดงอารมณ์เศร้า ร้องไห้ ไม่ใยดีต่อความชื่นบานของสิ่งรอบตัว ไร้อารมณ์รื่นรมย์ มีท่าทางวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา ก้าวร้าวง่าย เร่งรีบฉุกละหุก รอคอยไม่เป็น

8.ความคิดเปลี่ยน พูดรัวเร็ว หรือช้าผิดปกติ ตัดสินใจไม่ได้แม้สิ่งง่ายๆ เรื่องง่ายๆ รู้สึกผิดตลอดเวลาในทุกเรื่องที่คิด คิดและแสดงความคิดแบบไร้สาระ ดูไม่มีเหตุไม่มีผล รู้สึกไม่พอใจ หรือสับสนอยู่เสมอ พูดหรือแสดงออกแบบกลับไปกลับมา รวมทั้งแสดงออกแบบแปลกๆ เช่น จ้องมุมห้องเปล่าๆ ตลอดเวลา เป็นต้น

ทั้ง 8 พฤติกรรมเปลี่ยนไปของลูกที่แสดงออกมานานเกิน 2 อาทิตย์ดังกล่าว แสดงว่าลูกมีปัญหาทางใจแน่ๆ ค่ะ ต้องจดรายละเอียดและพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อดูแล แก้ไข และรักษาอย่างถูกต้องต่อไป อย่างไรก็ตาม ในเรื่องอารมณ์ของเด็กๆ นั้น Gerald Newmark, Ph.D  ผู้เขียนหนังสือ How to Raise Emotionally Healthy Children ที่เชื่อว่าอารมณ์ของคนเราคือพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่าง และเห็นว่าพ่อแม่สามารถช่วยส่งเสริมให้ลูกมีสุขภาพจิตที่ดีได้ ด้วยการปฏิบัติดังนี้

1. พูดคุยและถามเพื่อให้ลูกแสดงความคิดเห็นว่าถ้าเขาเป็นพ่อหรือแม่ เขาคิดอย่างไร และจะปฏิบัติอย่างไรในเรื่องนั้นๆ วิธีนี้จะช่วยให้คุณรู้ว่าลูกมีความคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องต่างๆ หรือต่อเรื่องที่คุณคิดไว้ เหมือนเป็นการโยนหินถามทาง ที่ทำให้ทั้งคุณและลูกได้เปิดใจพูดคุย แสดงเหตุผลต่อกัน ในเรื่องต่างๆ และได้รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของลูกด้วยว่าเป็นอย่างไรต่อเรื่องนั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้ทั้งคุณและลูกรับมือกันและกันอย่างเข้าใจกันได้

2. เคารพในตัวตนของลูก ความรู้สึกของเด็กๆ เป็นอย่างไร มักเป็นผลมาจากปฏิกิริยาของพ่อแม่ที่แสดงออกค่ะ ดังนั้น หากครั้งหน้าที่ลูกเรียกร้องคุณ ขณะที่คุณกำลังวุ่นกับการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ อย่าดุ หรือตีลูกนะคะ ให้บอกลูกตรงๆ ว่า..ตอนนี้แม่ยุ่งอยู่ ขอโทษนะจ๊ะที่แม่ทำให้ลูกตอนนี้ไม่ได้ อีก 15 นาทีนะ แล้วแม่จะทำให้..การบอกเช่นนี้จะทำให้ลูกรู้ว่าแม่ยังคงสนใจเขา เพียงแต่ยังทำให้ตอนนี้ไม่ได้เท่านั้น

3. จัดเวลาสนุกสำหรับครอบครัว แม้แต่ลูกวัยรุ่นที่เริ่มมีความเป็นส่วนตัว ก็ยังคงต้องการเป็นส่วนหนึ่งของความสุขของครอบครัวค่ะ เพราะลูกยังต้องการเรียนรู้จากพ่อแม่ จากสิ่งที่พ่อแม่คิด ทำ และแสดงให้เห็น ดังนั้น  การไปดูหนังด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน หรือทำกิจกรรมอะไรด้วยกันทั้งครอยครัว จึงเป็นเรื่องที่ลูกต้องการอย่างยิ่ง เพียงแต่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้เป็นผู้เลือก หรือนำกิจกรรมนั้นๆ บ้างด้วย

4. ผูกสัมพันธ์ด้วยการพูดคุย เรื่องนี้สำคัญที่สุดค่ะ เพราะทุกๆ ปฏิกิริยาที่แสดงออกมา คือโอกาสในการเรียนรู้กันและกันเพิ่มขึ้น เพียงแต่พ่อแม่ต้องรู้จักฟังลูกพูด เพราะการฟังลูกเท่ากับเรากำลังเคารพตัวตนของลูกอยู่ค่ะ ขณะที่ลูกก็จะรู้สึกว่าเขามีความสำคัญ พ่อแม่ฟังเขา แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม

5.ส่งเสริมทัศนคติบวก เด็กๆ ต้องการการยอมรับและเห็นคุณค่า ดังนั้นถ้าลูกแสดงพฤติกรรมที่ไร้เหตุผลตามวัย การดุหรือตีไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น กลับยิ่งทำให้แย่ลง เพราะลูกจะยิ่งแสดงอารมณ์ หรือพฤติกรรมไม่พอใจแรงขึ้น วิธีแก้ที่ดีที่สุดคืออธิบายด้วยความใจเย็น และแสดงให้ลูกรู้ว่าคุณรักเขาเสมอ แม้จะไม่เห็นด้วย หรือไม่ยอมเขาอย่างไร การส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้กับเด็กๆ นั้น สิ่งสำคัญคือการมีปฏิยสัมพันธ์ต่อกันทั้งทางกาย วาจา และใจค่ะ ต้องเต็มไปด้วยความรัก เคารพ และเห็นคุณค่าในกันและกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้จิตใจเด็กมั่นคง พร้อมเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพทางใจต่อไป  


ศัพท์สมอง
Mania
คือความผิดปกติทางใจ  โดยเมื่อเจอสิ่งเร้าจะแสดงออกมากเกินปกติ รู้สึกตื่นเต้น ดีใจ เสียใจ มากเกินปกติไปหมด  คิดอะไร ทำอะไรก็ล้นเกินไปหมดเช่นกัน     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น